วันนี้ (14 พ.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่ห้องประชุมอู่หลง ศาลากลางจังหวัด ที่ประชุมได้แจ้งสรุปการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตั้งแต่การสั่นไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยความแรงกว่า 6.3 ริกเตอร์ว่า จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคมมีการสั่นไหวรวม 767 ครั้งแล้ว โดยเป็นขนาดความแรง 5-5.9 ริกเตอร์ 8 ครั้ง 4-4.9 ริกเตอร์ 29 ครั้ง ที่เหลือไม่มีความแรงจนถึงระดับ 3.9 ริกเตอร์
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ |
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการปรับลดจำนวนบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลังลงจากเดิม 116 หลังเหลือ 107 หลัง แต่อาคารที่เสียหายบางส่วน ซึ่งเดิมมีประมาณ 8,900 หลัง ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,529 หลัง ส่วนความเสียหายอื่นๆ ยังคงเดิม เช่น ถนน 5 สาย สถานพยาบาล 25 แห่ง
และที่ผ่านมาทุกหน่วยงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เอกชน ประชาชนทั่วไป นำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมกำลังกันช่วยเหลือ ขนย้ายข้าวของ รื้อถอน ตรวจสอบอาคาร แจกจ่ายน้ำดื่ม อาหาร ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยหลายจุด รองรับอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งที่ผ่านมา
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้ตั้งกองทุนสงเคราะห์ช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว จ.เชียงราย เลขที่บัญชี 9823625789 บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศาลากลางจังหวัดเชียงราย ล่าสุดมีผู้บริจาคแล้วเกือบ 200,000 บาท และยังมีหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนระดมกองทุนช่วยเหลือด้วย
นอกจากนี้ยังรับบริจาคเป็นสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ซึ่งมีเอกชนประสงค์จะบริจาคกระเบื้องประมาณ 10,000 แผ่นแล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังใน อ.พาน 20,000 บาท และเสียหายบางส่วน 2,500 บาท ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส.มีงบประมาณก้อนแรก 20 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณฉุกเฉินที่จังหวัดเสนอไปก่อนหน้านี้ภายใต้วงเงิน 500 ล้านบาทได้มีการจัดสรรลงไปบางส่วนแล้ว และทางจังหวัดจะอนุมัติวันนี้เพื่อเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยพุ่งเป้าไปที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังก่อน จากนั้นจะทยอยช่วยเหลือบ้านเรือนเสียหายบางส่วนเป็นรายๆ ไป
จังหวัดได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ว่าอย่าให้ร้านค้าต่างๆ ขึ้นราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงนี้ ถ้าร้านใดขึ้นราคาทางจังหวัดก็พร้อมจะดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนที่จำเป็นต้องซื้อเพื่อไปสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือน นอกจากนี้จังหวัดจะพยายามช่วยชาวบ้านที่ไม่มีทุนสร้างบ้านใหม่ ด้วยการระดมภาคเอกชนทั่วไปช่วยเหลือ ออกแบบบ้านและให้เอกชนไปสร้าง โดยรับบริจาคทั้งบ้านและทุนไปพร้อมกันด้วย”
ด้านพื้นที่หมู่บ้านห้วยส้านยาว ม.13 ต.ดงมะดะ ซึ่งมีความเสียหายหนักอยู่แล้วและมีศูนย์ช่วยเหลือประชาชนตั้งอยู่ พบรอยแยกอยู่ตรงจุดที่ห่างจากเชียงราย-เชียงใหม่ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 152 ห่างจากจุดที่ผิวถนนเสียหาย และกรมทางหลวงกำลังทำการซ่อมแซมประมาณ 300 เมตร ซึ่งเป็นรอยแยกเดิมป่าละเมาะที่เคยพบเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งทำให้รอยแยกกว้างและลึกมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา - www.manager.co.th
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment