ภาพประกอบจากเพจ ความรู้เรื่องอาหารและสุขภาพ |
กระแสของคนใส่ใจสุขภาพมีแนวโน้มมากขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นโอกาสของตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่พยายามพัฒนาและปรับ ปรุงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีผลดีต่อสุขภาพ
ปัจจุบันเราจึงเห็นว่ามีการโฆษณากล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ ของผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในเครื่องดื่มที่มีการโฆษณาว่ามีผลดีต่อสุขภาพ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Functional Drinks จนเกิดความสงสัยว่า เจ้าน้ำดื่มสารพัดยี่ห้อที่ใช้เรื่องความงามเป็นจุดขายนั้น ดื่มเข้าไปแล้วมันจะสวยได้จริงหรือ? รวมทั้งชื่อสารเคมีแปลก ๆ มันจะมีสรรพคุณวิเศษมหัศจรรย์จนสามารถบันดาลความสวยงามให้ได้จริงหรือ?
ไปหาคำตอบกัน
หมายเหตุ : บทความค่อนข้างยาว ขออนุญาตปรับปรุงแยกหัวข้อและปรับการนำเสนอบทความเล็กน้อย เพื่อให้สะดวกต่อการอ่านในบล็อก
อย.ให้ขายและโฆษณาได้ แสดงว่าของเขาดีจริงสิ ?
เชื่อว่ายังมีผู้บริโภคอีกหลายท่าน ที่เข้าใจผิดว่ามี อย. หมายถึงรับรองว่า ดื่มแล้วสวยจริง อันนี้ขอแก้ไข เรื่องจริงคือ อย.รับรองเพียงแค่ว่าดื่มแล้วปลอดภัย (ไม่ตาย) แต่ไม่ได้รับรองแต่อย่างใดเลยว่า ดื่มแล้วสวย ฉลาด สมาร์ท เลิศ อย่างที่เข้าใจกันไปตามที่โฆษณาบอก
ลองอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ดูสิ อย.เขาไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ทางอาหารบนฉลากเด็ดขาด เพราะมันไม่มีหลักฐานอะไรที่มันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ไงล่ะ แต่จะไปห้ามคนไม่ให้เอาสารอาหารมาผสมน้ำขายก็ไม่ได้ เขาจึงรับรองแค่ว่า มันปลอดภัย แต่ไม่ได้ดื่มแล้วสวยขึ้นหรือฉลาดขึ้นนะ
แถมยังบังคับให้น้ำดื่มพวกนี้ต้องติดคำเตือนเอาไว้ด้วยว่า “ควรกินอาหารหลากหลายชนิดให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ”
ฉลากบอกอะไรเราบ้าง
- เกือบทุกผลิตภัณฑ์เป็นน้ำรสผลไม้ (ไม่เกิน 20%) ส่วนใหญ่เป็น น้ำองุ่นขาว จากน้ำองุ่นขาวเข้มข้น เติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานเพื่อให้มีรสชาติดี จากนั้นก็แล้วแต่ว่าต้องการให้มีคุณสมบัติเพื่อขายอะไรก็เติมสารอาหารนั้นเข้าไป
- ฉลากส่วนใหญ่ไม่มีการโฆษณาสรรพคุณว่าดื่มเพื่ออะไร แต่จะแสดงให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่า มีสารอะไรเป็นตัวเด่น (จุดขาย) แล้วให้ข้อมูลวิชาการเสริม หรือเพื่อโน้มน้าวใจผู้ซื้อ ซึ่งบางผลิตภัณฑ์เป็นข้อมูลที่คลุมเครือและน่าจะได้มีการตรวจสอบว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น “คลอโรฟิลล์สารสกัดสีเขียว จากอัลฟาฟ่า ช่วยขับสารพิษในร่างกาย บำรุงเลือด ช่วยให้ ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น” เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ คลอโรฟิลล์
- หลายผลิตภัณฑ์เนื้อที่แค่บนฉลากมันไม่พอ ต้องมีป้ายพิเศษเพิ่มคล้องไว้ที่ขวดด้วย ซึ่งป้ายให้ข้อมูลเพิ่มเติมนี้ บางข้อความหมิ่นเหม่เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
สารอาหารหรือยาวิเศษ
จากการพลิกดูฉลากผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าเพื่อความสวยงามหรือฉลาดสดใสนี้ น่าจะพอแบ่งกลุ่มหลัก ๆ ของสารอาหารที่ถูกนำมาผสมขึ้นเป็นเครื่องดื่มแต่ละขวดได้ดังนี้
1. เครื่องดื่มที่เน้นว่าดื่มแล้วสวย
การโฆษณาว่าดื่มแล้วสวย คงเป็นที่ถูกใจวัยรุ่นสาว ๆ และผู้หญิงหลายคนเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนก็อยากเป็นคนสวยทั้งนั้น เมื่อพิจาณาส่วนประกอบในเครื่องดื่มเหล่านี้มักพบว่ามีการเติม ”คอลลาเจน” เพิ่มลงไปในปริมาณที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 125 – 3000 มิลลิกรัม โดยที่หลายชนิดมีการใช้คำว่าคอลลาเจนในชื่อของผลิตภัณฑ์ด้วย
ความจริง
- กินคอลลาเจนแล้วช่วยให้ผิวสวยหรือแก่ช้าจริงหรือไม่ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คอลลาเจน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากที่สุดในร่างกาย คือประมาณ 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดในร่างกาย มีลักษณะโครงสร้างที่เกาะเป็นเกลียว ทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ในส่วนของผิวหนังมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลัก (ประมาณร้อยละ 75) และทำหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังเรียบ ตึง และเนียนเรียบ โดยทำหน้าที่คู่กับโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า อีลาสติน (Elastin)
- คอลลาเจนที่ผิวหนังเกิดจากการสร้างภายในร่างกายเราเอง โดยสร้างจากกรดอะมิโนที่ได้จากการกินอาหารประเภทโปรตีนต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง และต้องอาศัยวิตามินซีเป็นผู้ช่วยให้เกิดคอลลาเจนที่สมบูรณ์ จากหน้าที่ของคอลลาเจนที่ผิวหนังดังกล่าว ทำให้คอลลาเจนได้รับความสนใจนำมาใช้ในการชะลอริ้วรอย เสริมความงาม ช่วยให้ไม่แก่ ผิวหนังจะสวยได้ต้องมีคอลลาเจนที่แข็งแรงอยู่มากพอเป็นเรื่องจริง
- การกินคอลลาเจนเข้าไป ไม่ได้หมายความว่าคอลลาเจนที่กินนั้นจะไปอยู่ที่ผิวหนังได้ เพราะ คอลลาเจนเป็นโปรตีน เมื่อกินเข้าไป จะถูกย่อยเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนเช่นเดียวกับโปรตีนชนิดอื่น ๆ จากนั้นกรดอะมิโนจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เอาไว้เป็นตัวตั้งต้นสำหรับการสร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายต่อไป
- ในทางโภชนาการคอลลาเจนจัดเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำ เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างไม่ได้ไม่ครบถ้วน และไม่เพียงพอ ดังนั้นการกินแต่คอลลาเจนโดยที่ไม่ได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพดีอย่างอื่นมากพอ ในระยะยาว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- การกินคอลลาเจนเพื่อให้ผิวสวยนั้นคงได้ผลน้อย ถ้าร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนจากการกินอาหารที่ครบหมวดหมู่อย่างหลากหลายและสมดุล การที่ผิวหนังจะสวยได้จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดอย่างมากพอ และต้องรู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เร่งการเสื่อมสลายของคอลลาเจนด้วย เช่น การอยู่ในที่แสงแดดจัดเป็นเวลานานหรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
2. เครื่องดื่มที่เน้นว่ามีผลบำรุงสมอง
ตัวนี้กำลังมาแรง เครื่องดื่มที่โฆษณาว่าทำให้เก่ง มีผลต่อสมอง ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้คือ มีส่วนประกอบของ เปปไทด์หรือกรดอะมิโน หรือในบางผลิตภัณฑ์จะมีการเสริมกรดไขมันโมเลกุลยาวที่สกัดจากปลา ที่เรียกว่า โอเมก้าสาม หรือ ดีเอชเอ ร่วมด้วย
ความจริง
- เปปไทด์และกรดอะมิโน คือ หน่วยย่อยของโปรตีนที่ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้เลย โดยปกติเมื่อเรากินอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืช (ถั่วต่างๆ) หรือโปรตีนจากสัตว์ ร่างกายจะมีน้ำย่อยหรือเอนไซม์ มาย่อยสลายโปรตีนนั้นให้มีขนาดเล็กลงจนกลายเป็นกรดอะมิโน เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
- เปปไทด์ คือ กรดอะมิโน 2 หรือ 3 ตัวเรียงต่อกัน ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าร่างกายสามารถดูดซึมเปปไทด์สายสั้นนี้ได้ดีกว่ากรดอะมิโนเดี่ยว ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของเปปไทด์หรือกรดอะมิโนเข้าไป ก็จะทำให้ร่างกายสามารถนำเปปไทด์หรือกรดอะมิโนนั้นไปใช้ได้ทันที
- ต้องพิจารณาว่าร่างกายท่านมีความจำเป็นที่ต้องการเปปไทด์หรือกรดอะมิโนต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นทันทีหรือไม่ ถ้าเรามีการรับประทานอาหารที่เหมาะสมครบถ้วนทั้งสามมื้อแล้ว การได้รับโปรตีนที่มากเกินไปไม่ว่าในรูปแบบใดจะส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักมาก ขึ้นในการกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งมีโอกาสทำให้ไตของเราเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
- ถึงแม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของเปปไทด์หรือกรดอะมิโนจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารเหล่านั้นไปใช้ได้ทันที อาจมีผลทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ฉลาดขึ้นไปด้วย ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ก่อนเข้าห้องสอบของนักเรียน/นักศึกษานั้น คงไม่ได้ทำให้นักศึกษาผู้นั้นทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น ถ้าไม่ได้มีการศึกษาทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอมาก่อน
- ดีเอชเอ (DHA) เป็นคำย่อมาจาก docosahexaenoic acid ซึ่งก็คือคือ กรดไขมันโมเลกุลยาวชนิดหนึ่งทีมีอยู่มาก ในสมอง ประสาทตา และหัวใจ
- โครงสร้างของ DHA เนื่องจากในสมองจะมีเซลล์ไขมันอยู่มากที่สุด ดังนั้นการได้รับกรดไขมันชนิดนี้มากพอจึงเชื่อว่าช่วยพัฒนาการของสมองและระบบประสาทของร่างกายทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
- แหล่งอาหารที่สำคัญของไขมันชนิดนี้ คือ การบริโภคปลาเป็นประจำ อย่างไรก็ตามหลายท่านอาจบอกว่าไม่ค่อยได้กินปลา จึงหันมากินผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริม DHA แทน เพื่อหวังผลทางสุขภาพเช่นเดียวกัน
- อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผลทางสุขถาพที่ชัดเจนของเครื่องดื่มเหล่านี้ว่ามีผลต่อพัฒนาการของสมอง
- อย่าลืมว่าการที่สมองของคนเราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยังขึ้น อยู่กับหลายปัจจัยด้วย เช่น การได้รับออกซิเจนและกลูโคสที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของสมองอย่างเพียงพอด้วย การพักผ่อนที่เพียงพอและไม่เครียดเกินไปก็มีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย
3. เครื่องดื่มที่เน้นว่ามีผลดีต่อการระบาย
เครื่องดื่มเชิงสุขภาพส่วนใหญ่ที่ จำหน่ายทั่วไปมักมีการเสริมใยอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่ระบุชนิด (เช่น อินนูบิน) และไม่ระบุชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน (0.25 – 2.1 %) และมักจะกล่าวอ้างคุณประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหารและกระตุ้นการขับถ่าย
ความจริง
- อย่างไรก็ตามปริมาณใยอาหารที่เพิ่มขึ้นในบางผลิตภัณฑ์ อาจไม่มากพอที่จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ เนื่องจากยังไม่มากพอต่อความต้องการของร่างกายใน 1 วัน (20-25 กรัมต่อวัน) ดังนั้นผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ต้องไม่ลืมที่จะมีพฤติกรรมการ บริโภคอาหารให้เหมาะสม ถูกสัดส่วนเช่นเดิมด้วย เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีตามต้องการ
4. เครื่องดื่มที่เน้นว่ามีผลดีต่อสุขภาพ
โคเอนไซม์คิวเทน (Co Q 10) เป็นสารเสริมอีกชนิดหนึ่งที่มีการเติมกันมากในเครื่องดื่มที่มีการกล่าวอ้าง ทางสุขภาพ ปริมาณที่เติมประมาณ 15-29 มิลลิกรัมต่อขวด
ความจริง
- โคเอนไซม์คิวเทน หรือบางคนเรียกว่า คิวเทน เป็นสารที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายมนุษย์และสัตว์ มีอยู่มากในอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ไต มีหน้าที่ช่วยให้เกิดพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยทำหน้าที่ดักจับอิเลคตรอนเพื่อส่งให้ไมโตคอนเดรียผลิตพลังงานแก่เซลล์
- ในความเป็นจริง การทำงานของโคเอนไซม์คิวเทนไม่ได้เพียงแค่จับอิเลคตรอนไว้กับตัว แต่ยังส่งผ่านหน้าที่ไปยังส่วนอื่น เพื่อให้เกิดการทำงานครบกระบวน ดังนั้นในทางทฤษฎีแทนที่จะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพียงอย่างเดียว โคเอนไซม์คิวเทนอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระเสียเองได้ ดังนั้น การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคิวเทนจึงไม่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แต่จะไปเพิ่มปริมาณโคเอนไซม์คิวเทนให้ร่างกายนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเอง
- โดยปกติการสังเคราะห์โคเอนไซม์คิวเทนอาจลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น รวมทั้งการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase ที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดก็ทำให้การสังเคราะห์โคเอนไซม์คิวเทนลดลงได้ จึงควรมีการบริโภคโคเอนไซม์คิวเทนจากอาหารเพิ่มให้มากเพียงพอ โดยการกินอาหารเนื้อสัตว์ต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม
- สำหรับ เครื่องดื่มที่มีการเสริมโคเอนไซม์คิวเทน ต้องระวังว่าปริมาณที่เติมนั้นอาจลดลงจากเดิมได้ง่าย เนื่องจากสารโคเอนไซม์คิวเทนมีความไวต่อแสงมาก
5. เครื่องดื่มที่มีการกล่าวอ้างว่าช่วยในการเผาผลาญพลังงาน
มักจะมีการเติมสาร แอล-คาร์นีทีน (L-Carnitine) ประมาณ 0.04-0.7 %
ความจริง
- แอล-คาร์นีทีน เป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เองภายในตับและไต ทำหน้าที่เปลี่ยนกรดไขมันให้เป็นพลังงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา กล้ามเนื้อหัวใจ สมอง และช่วยระบบเผาผลาญ
- ดังนั้นข้อดีของ แอล-คาร์นีทีน ที่ถูกยกมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ คือ ให้พลังงานมากขึ้นจึงเหมาะสำหรับผู้รักการออกกำลังกาย ต้องการควบคุมน้ำหนัก พร้อมทั้งช่วยเผาผลาญไขมัน
- โดยปกติร่างกายเราจะมีสารแอล-คาร์นีทีนอยู่มากพอ ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยและดูดซึมอาหาร และผู้ที่รับประทานมังสวิรัติที่อาจพบว่ามีการขาดสารแอล-คาร์นีทีนได้
- โดยที่จริงแล้วคนรักสุขภาพทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องดื่ม เครื่องดื่มที่มีการเติมสารคาร์นีทีนเพิ่ม ถ้ามีการกินอาหารที่เป็นแหล่งของแอลคาร์นีทีนเป็นประจำ ที่พบมากในเนื้อแดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช ผักใบเขียว อะโวคาโด ถั่วรับประทานทั้งฝัก และผลิตภัณฑ์จากถั่วหมัก
- เด็กและสตรีมีครรภ์ก็ไม่ควรได้รับ แอลคาร์เนทีนในรูปของผลิตภัณฑ์หรือเครื่องดื่มที่เสริมสารอาหาร
6. เครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มเพื่อความขาวของผิวพรรณ
แอลกลูตาไธโอน (L-glutathione) เป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่พบว่ามีการเติมเพิ่มในเครื่องดื่มที่กล่าวอ้างทาง สุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความขาว รวมทั้งอ้างว่าแก้อาการเมาค้างด้วย
ความจริง
- มีการศึกษาพบว่า กลูตาไธโอน ช่วยเสริมการทำงานของวิตามินซี และอี ในการทำลายอนุมูลอิสระ และยังมีหน้าที่สำคัญ ในการช่วยขจัดสารพิษหรือขับของเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตับ โดยทำหน้าที่เปลี่ยนสารพิษกลุ่มที่ไม่ละลายน้ำ เช่น สารพิษในอาหารปิ้ง ย่าง รมควัน สารพิษจากเชื้อราต่าง ๆ หรือยาบางชนิดให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ เพื่อให้ร่างกายกำจัดออกได้ง่ายขึ้น และยังช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์และบุหรี่ ในประเด็นหลังนี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มนำมาเป็นจุดขายกับผู้ที่นิยมการดื่ม แอลกอฮอล์ที่ยังห่วงใยสุขภาพ
- โดยปกติร่างกายคนเราผลิตสารกลูตาไธโอนได้เอง ยกเว้นคนที่เป็นโรคบางชนิด เช่น โรคตับ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้สูบบุหรี่จัด
- กลูตาไธโอน พบได้ทั่วไปในเนื้อสัตว์ ผลไม้และผัก โดยเฉพาะหน่อไม้ฝรั่ง
- จาก รายงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ พบว่า กลูตาไธโอนที่อยู่ในอาหารเสริมหรือเครื่องดื่ม นั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดีนัก และไม่ควรรับประทานเกิน 250 มิลลิกรัมต่อวัน
- การโฆษณาว่า เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกลูตาไธโอน แก้เมาค้างและบำรุงตับได้ นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ตลาดเครื่องดื่มสุขภาพในประเทศไทย ที่พบเห็นทั่วไปมักจะกล่าวอ้างว่า “ดื่มแล้วสวย เก่ง ฉลาด มีผลดีต่อสมอง” เป็นหลัก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาวหรือวัยทำงานในเมืองที่มีวิถีชีวิตค่อน ข้างรีบเร่ง อาจไม่มีเวลาในการดูแลตนเองมากนัก แต่รักสวยรักงาม อยากมีร่างกายที่ฟิต เก่ง และมักมีความสนใจในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ
จากการสำรวจตลาดพบว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทนี้มากกว่า 30 ชนิดที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป โดยมีราคาแตกต่างกันตั้งแต่ประมาณ 20-40 บาท
เครื่องดื่มเหล่านี้มีผลดีต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใดคงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย จากการพิจารณาส่วนประกอบของเครื่องดื่มเหล่านี้ที่แสดงอยู่ที่ภาชนะบรรจุจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยส่วนผสมของน้ำผลไม้ และมักมีการเติมวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี วิตามินซี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีการเติมสารเฉพาะบางอย่างที่มีการ กล่าวอ้างว่ามีผลดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น คอลลาเจน โคเอนไซม์คิวเทน คาร์นีทีน กรดอะมิโนหรือเปปไทด์ เป็นต้น ดังนี้แล้ว ก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใด จึงควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะมิฉะนั้น แทนที่จะได้รับประโยชน์จากสารอาหาร อาจก่อให้เกิดโทษโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้
ที่มา - เพจ ความรู้เรื่องอาหารและสุขภาพ
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment